วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

GPS กับการตลาด


ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนสามารถเปิด Web Site ของสถานที่นั่น ๆ ได้ทันที เมื่อโปรแกรมแสดงตำแหน่งของสถานที่ที่น่าสนใจ

"ทำเงินบนโลกไอที"ครั้งนี้พูดถึงการทำเงินบนระบบแผนที่ดิจิตอล ครั้งแรกเราโชว์ให้เห็นว่าแผนที่ไอทีสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจได้จริง ครั้งที่สองเรายกกรณีง่ายๆที่ทุกธุรกิจสามารถทำได้บนแผนที่ดิจิตอล สำหรับครั้งนี้ เราเชื่อว่าจะทำให้คุณผู้อ่านเข้าใจช่องทางการโฆษณาแบบเข้าถึงตัวผู้บริโภค ผ่านอุปกรณ์แสดงแผนที่ดิจิตอลระบบ GPS ทั้งโทรศัพท์มือถือ และ GPS นำทาง
เมื่อเข้าใจช่องทางแล้ว การค้นหาไอเดียเพื่อดำเนินการจริงก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อมอีกต่อไป


หลังจากที่ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการตลาดด้วยแผนที่ไปแล้ว 2 ตอน วันนี้เรามาดูการนำแผนที่ไปใช้งานในด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับ GPS กันดีกว่าครับ ผมจะพาทุกท่านไปพบกับในอีกแง่มุมหนึ่งของการนำเอาแผนที่ไปใช้ประโยชน์ในด้านการตลาด ทั้งแผนที่ในโทรศัพท์มือถือ GPS นำทางแบบ PND และ ระบบ GPS นำทางที่ติดตั้งในรถยนต์

แต่ก่อนที่จะคุยถึงเรื่องของการตลาด เรามาทำความรู้จักกับเจ้าอุปกรณ์ GPS เพื่อการนำทางกันซะหน่อยดีกว่าครับ ปกติแล้วอุปกรณ์ GPS เพื่อการนำทางจะประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ 3 ส่วนด้วยกันครับ คือ

- Hardware โดยหลัก ๆ แล้วก็คือตัวเครื่อง และ GPS Chip ที่อยู่ภายในนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันมีด้วยกันหลากหลายขนาด และรูปแบบ สำหรับ GPS Chip เองปัจจุบันก็มีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นแบบ High Sensitivity หรือมีความไวในการรับสัญญานสูงทั้งสิ้น

- Software ส่วนนี้จะทำหน้าที่เหมือนเป็นสมองที่ใช้ในการคิดค้นหาเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางระหว่างจุดต่าง ๆ โดยใช้เงื่อนไข และข้อมูลต่าง ๆ ในส่วนที่ 3 มาประกอบการวิเคราะห์ โดยความชาญฉลาดของอุปกรณ์ก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่บริษัทที่คิดค้นขึ้นมา

- Map ในปัจจุบันส่วนนี้เป็นเพียงส่วนเดียวที่สามารถดำเนินการผลิต และพัฒนาได้เองในเมืองไทย และโดยคนไทย เนื่องจากเป็นข้อมูลของเมืองไทยเราเอง ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด และมีผลต่อความสามารถของระบบโดยรวมของอุปกรณ์ GPS เพื่อการนำทางเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลพื้นฐานในส่วนนี้จะมี 2 ส่วนคือ ส่วนของข้อมูลเส้นถนน และข้อมูลสถานที่สำคัญ หรือที่เรียกกันว่า POI (point of interest) นั่นเอง ซึ่งความถูกต้องทางด้านตำแหน่ง และเงื่อนไขต่าง ๆ ของเส้นถนนเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของอุปกรณ์นี้

ปกติแล้วกลยุทธ์หนึ่งในการทำการตลาดก็คือ การทำให้ผู้ใช้ หรือลูกค้ามีความจำได้ หรือระลึกถึงในตราสินค้าของตัวเอง ตรงนี้ GPS ที่ใช้ในการนำทางสามารถตอบโจทย์ได้ เพราะการมีความสามารถพิเศษที่เรียกว่า Brand Icon ซึ่งแทนที่จะแสดงตำแหน่งหรือ POI เป็นจุดธรรมดา เราสามารถที่จะนำเอาตราสัญลักษณ์ หรือรูปภาพมาแสดงแทนได้

ผลที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเห็นภาพแผนที่ใน GPS ผู้ใช้งานจะทราบถึงยี่ห้อ และชื่อของตำแหน่งบริการหรือสถานที่นั้น ๆ ทันที

นอกจากนี้แล้วในขณะที่กำลังขับยานพาหนะอยู่บนท้องถนน ระบบ GPS เพื่อการนำทางนี้ก็ยังสามารถแสดงการเตือนเมื่อเรากำลังขับรถเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า Alert POI ได้ ซึ่งเราก็จะสามารถนำมาใช้ในการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานได้ทราบว่ากำลังจะเข้าใกล้จุด หรือตำแหน่งที่น่าสนใจแล้ว
แน่นอนว่าตรงนี้ ก็สามารถนำมาปรับใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดได้

ตัวอย่างเช่นบรรดาค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่มีการขาย GPS เพื่อการนำทางติดไปกับรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ค่ายรถเหล่านี้จะทำ Brand Icon แสดงสัญลักษณ์ยี่ห้อของรถของตัวเองแทนลง ณ ตำแหน่งของ Showroom หรือศูนย์บริการรถยนต์ นอกจากนี้ยังทำให้มีการแจ้งเตือนเมื่อผู้ขับรถขับรถเข้าใกล้ Showroom หรือศูนย์บริการของยี่ห้อนั้น ๆ ในลักษณะของ Alert POI อีกด้วย

สำหรับในโทรศัพท์มือถือนั้นขอเน้นในส่วนที่เป็น Smartphone นะครับ ความสามารถในการต่อ Internet ได้ทำให้สมาร์ทโฟนสามารถใช้งานได้กว้างขวางกว่า GPS ที่เป็น PND หรือแบบอื่น ๆ เพราะผู้ใช้งานจะสามารถเปิด Web Site ของสถานที่นั่น ๆ ได้ทันทีขณะใช้งานโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการบอกตำแหน่ง เช่น Google Maps หรือซอฟต์แวร์ด้านการนำทางที่ติดตั้งอยู่ในสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะเมื่อโปรแกรมแสดงตำแหน่งของสถานที่ที่น่าสนใจ

นอกจากนี้แล้ว เราสามารถที่จะใช้อุปกรณ์ GPS เพื่อการนำทางเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างง่าย ๆ ได้ โดยมีธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น บริษัทรถยนต์ บริษัทประกัน เป็นต้น ที่ดำเนินการจัดซื้อ หรือจัดหาอุปกรณ์ GPS เพื่อการนำทางเหล่านี้มาเป็นของแถม หรือของสมนาคุณให้กับลูกค้าที่ใช้บริการของหย่วยงานนั้น และได้ดำเนินการจัดทำสิ่งที่เรียกว่า Welcome Screen เพื่อให้ผู้ใช้งานเห็นรูปภาพของบริษัทนั้น ๆ ในหน้าแรกหลังเปิดเครื่องทุกครั้งไป

บรรดาเจ้าของกิจการต่าง ๆ ก็อยากที่จะให้ตำแหน่งที่ตั้งของกิจการของตนเองเข้าไปปรากฎเป็น 1 ใน POI ที่บรรจุอยู่ในอุปกรณ์ GPS เพื่อการนำทางเหล่านี้ด้วยทั้งในแบบ POI ปกติ ที่เมื่อผู้ใช้งานทำการค้นหาข้อมูลแล้วสามารถหาเจอ หรือมีการจัดทำเป็นรูปแบบพิเศษ เช่น POI ร้านอาหารแนะนำ เป็นต้น ถึงขนาดมีการติดต่อเข้าไปยังบริษัทที่ทำอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อขอเพิ่มตำแหน่งของตัวเองเข้าไปในฐานข้อมูลด้วย

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้อุปกรณ์ GPS เพื่อการนำทางทั้งในรูปแบบที่เป็น PND, OEM ในรถยนต์ หรือแม้กระทั่งที่มีอยู่ในโทรศัพท์มือถือสามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งทางด้านการตลาดที่จะทำให้ลูกค้ารู้จัก หรือสามารถเข้าถึงกิจการต่าง ๆ ที่เราต้องการได้โดยง่ายดายด้วย และนับวันก็จะมีแต่การขยายความสามารถในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นอกเหนือไปจากการทำการตลาดผ่านทางอุปกรณ์ GPS แล้ว ยังมีอีกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ GPS ที่น่าสนใจ และสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี สิ่งนั้นก็คือระบบ Tracking หรือระบบติดตามยานพาหนะนั่นเอง ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ GPS ในรถยนต์เพื่อทำให้ทราบตำแหน่งของรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีการส่งตำแหน่งดังกล่าวกลับมายังศูนย์เพื่อให้เราสามารถทราบตำแหน่ง หรือการเคลื่อนตัวของรถยนต์ในทุกช่วงเวลาอีกด้วย ทำให้เราสามารถทำการตรวจสอบการขับรถของพนักงานเพื่อความปลอดภัยของสินค้าที่นำส่ง หรือการตรวจสอบในรูปแบบต่าง ๆ ได้

ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง GPS เพื่อการนำทางกับระบบ Tracking ก็คือ GPS เพื่อการนำทางจะถูกใช้งานโดยคนที่อยู่ในรถ แต่ระบบ Tracking จะถูกใช้งานโดยคนที่อยู่ภายนอกรถที่ต้องการทราบตำแหน่งของรถนั่นเอง โดยรายละเอียดของระบบ Tracking นั้น หากมีผู้สนใจผมจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปนะครับ


ที่มา
GPS กับการตลาด(บทความโดย ชาญณรงค์ ธีระโรจนารัตน์ www.esrith.com
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9520000141287