วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การตลาดด้วยแผนที่ เริ่มที่ไหนดี

การตลาดด้วยแผนที่ เริ่มที่ไหนดี

แผนที่กระดาษสามารถเป็นพื้นที่โฆษณาได้ฉันใด แผนที่ดิจิตอลทั้งตระกูลออนไลน์และออฟไลน์ก็สามารถเป็นเครื่องมือการตลาดทางเลือกใหม่อนาคตไกลได้ฉันนั้น "ทำเงินบนโลกไอที"สัปดาห์นี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจกับบันไดขั้นแรกของการทำการตลาดบนแผนที่ดิจิตอล พร้อมกับกรณีศึกษาที่พิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลจริง

ในแต่ละวันคุณต้องเดินทางบ่อยครั้งแค่ไหนค่ะ ปฏิเสธกันไม่ได้ใช่มั๊ยค่ะว่าบางครั้งคุณต้องเสียเวลาเดินทางมากกว่าเวลาที่ไปทำธุระซะอีก ยิ่งถ้าไม่คุ้นเส้นทางเราก็ควรวางแผนเผื่อเวลาไว้สักเล็กน้อย ต่อให้ใช้บริการรถไฟฟ้าก็เถอะ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงแล้วต้องเผื่อเวลาสำหรับเรื่อง “หลงทาง” อีกด้วย...

เหตุการณ์หลงทางถูกแก้ไขได้ง่ายๆ เพียงแค่เราวางแผนการเดินทางค้นหาเส้นทางที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะขึ้นทางด่วน หรือใช้เส้นทางลัดเราก็ค้นหาจากแผนที่ เจ้าแผนที่นี้แหละที่เปิดช่องทางสร้างโอกาสให้กับเหล่านักการตลาด ทั้งในโลกแห่ง Offline และ Online

ในทางออฟไลน์นั้นเราใช้แผนที่แบบกระดาษ หรืออุปกรณ์นำทางโดยอาศัยสัญญาณดาวเทียม (GPS : Global Position System) มีผู้ใช้งานกว่า 60,000 เครื่อง สาเหตุได้รับความนิยมเนื่องจาก ใช้ง่าย ข้อมูลละเอียดจนรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ยังติดตั้งอุปกรณ์นำทางนี้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งอวัยวะของรถที่ขาดไม่ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ ส่วนรถรุ่นเดิมๆก็สามารถหาซื้ออุปกรณ์ Hardware & Software ติดตั้งใช้เองด้วยสนนราคาเริ่มต้นที่หลักพันบาท แถมหาซื้อได้ง่ายๆแค่เดินเข้าร้านหนังสือในห้างทั่วไปก็ซื้อได้แล้ว


คราวนี้ถ้าสินค้าคุณสามารถเข้าไปอยู่ในเจ้าแผนที่ที่ว่านี้ได้ กี่สายตาที่ผู้บริโภคจะรับรู้และมีโอกาสเจอคุณ... นับไม่ถ้วนเลยค่ะ โอกาสเห็นยิ่งมาก ก็ยิ่งสร้างโอกาสแวะและซื้อตามมาเป็นลำดับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องพิจารณาลักษณะของสินค้า & บริการที่นำเสนอควรมีความเกี่ยวข้องกับจุดประสงค์การเดินทางด้วย เช่น ปั๊มน้ำมัน จุดบริการตู้ ATM ร้านอาหาร ร้านกาแฟ แบบนี้เหมาะสมที่จะเข้าไปอยู่ในแผนที่นำทาง

ที่สำคัญคือสถานที่ต้องมีความแน่นอน ไม่ย้ายพิกัดเปลี่ยนที่อยู่บ่อย เพราะจะติดปัญหาเรื่องการอัพเดตข้อมูลที่นานปีทีหนจะอัพเดตกัน เช่น เราหมายมั่นตั้งพิกัดจะไปร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าอร่อยที่เครื่องนำทางแนะนำ นึกดูหากวิ่งรถไปจนถึงพิกัดนั้นแล้วกลับไม่พบ เพราะเฮียเจ้าของร้านพายเรือไปเปิดร้านทำเลใหม่ โอโห...เสียความรู้สึกค่ะ เกิดความไม่เชื่อถือข้อมูลแล้วค่ะ

หรือสินค้าคุณไม่เกี่ยวข้องกับความต้องการในการเดินทางเลย แต่พยายามยัดเยียดข้อมูลให้ลูกค้าเวลาขับรถผ่าน เครื่องนำทางโชว์ทั้งโลโก้ สัญลักษณ์พร้อมเสียงเรียกเตือนอัจฉริยะบอกอีก 500 เมตรชิดซ้ายถึงร้าน... แบบนี้ก็น่ารำคาญสร้างภาพพจน์ในทางลบมากกว่าความประทับใจ

กลับมาดูในโลก Online หลายปีก่อนที่ Google ปล่อยตัว Google Earth ออกมาเป็นที่ฮือฮาจากแวดวงคนใช้อินเตอร์เน็ตอย่างมาก แม้แต่เราพยายามมองหาหลังคาบ้านตัวเองเลยค่ะ ซึ่งบางสถานที่ถูกพัฒนามองเป็นภาพ 3 มิติได้ด้วย เป็นที่น่าเสียดายด้วยข้อจำกัดของโปรแกรมหลายๆอย่าง อาทิเช่น ต้องติดตั้งโปรแกรมขนาดใหญ่ install แผนที่ประเทศไทยที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ใช้เหนื่อยกับการใช้งานไปเอง

แต่ในมุมมองของเจ้าพ่อ Search Engine อย่าง google ไม่ย่อท้อมองว่าพฤติกรรมการค้นหา และแสดงผลสามารถแสดงเป็นข้อความ รูปภาพ แ ละแผนที่บอกพิกัดที่ตั้งได้ด้วย จึงเกิด Google Maps แผนที่ที่ใช้งานง่ายผ่านเว็บบราวเซอร์ธรรมดาๆนี่เอง


ช่วงต้นปี 50 กระแสเรื่องแผนที่ก็กลับมาอีกครั้งเมื่อ Google Maps ได้เพิ่มข้อมูลแผนที่ประเทศไทย และได้ถูกพัฒนาเรื่อยมาให้สามารถแสดงผลเป็น 2 ภาษาทั้งไทยและอังกฤษ วิธีการแสดงผลก็มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกทั้งแสดงแบบลายเส้น ภาพถ่ายดาวเทียม และแบบภูมิประเทศ ต้องขอบอกว่า Google Maps เวอร์ชันท้องถิ่นได้เปิดตัวที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยนะคะ (http://maps.google.co.th) ทั้งยังมีแพลตฟอร์มแบบเปิดยืดหยุ่นให้นักพัฒนาและองค์กรธุรกิจพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งกว่าจะออกเวอร์ชันนี้มาได้ก็เคยแอบได้ยินเสียงบ่นจากเจ้าหน้าที่กูเกิลว่า การตั้งชื่อซอยและถนนหนทางของประเทศไทยนั้นปราบเซียนเลยทีเดียว และเมื่อมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นนั่นหมายถึงแผนที่เริ่มเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้นแล้วนั่นเอง

ด้วยฟีเจอร์ที่เปิดกว้างรองรับข้อมูลแบบข้อความ ภาพถ่าย ตลอดจนวีดีโอ ทำให้เราใส่ลูกเล่นได้เยอะขึ้น ยังไม่หมดแค่นี้ในฟีเจอร์ My map เราสามารถวาดเส้นเพื่อแนะนำเส้นทางได้ หรือจะเพิ่ม html ปรับแต่งความสวยงามของเพจก็ได้ แล้วแบ่งปันเปิดให้คนอื่นเห็นได้ด้วย ไม่ว่าจะค้นหาตำแหน่ง ขอเส้นทางระหว่าง 2 ตำแหน่งที่เดินทาง หรือค้นหาองค์กรธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่มีหลายสาขา ร้านกาแฟ แฟรนไชส์ โรงแรมโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวพลาดไม่ได้เลยค่ะ หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์ที่มีหลายโครงการ


การปรับแต่งหน้าตาที่แสดงผลควรดูความเหมาะสมด้วย ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดทุกฟีเจอร์ใส่เข้าไปในนั้นนะคะ แค่มี landing page ที่มีข้อมูลรองรับเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ยูสเซอร์มองหาอยู่เค้าก็จะสนใจและคลิกเข้าชมเว็บเองค่ะ


หาร้านอาหารใกล้ออฟฟิศว่าเย็นนี้ไปนั่ง hang out ที่ไหนดีกับแก็งค์เพื่อนร่วมงาน เราก็ค้นหาสถานที่ ชมบรรยากาศ และเมนูอาหารเด็ดแนะนำของแต่ละร้านที่เราชื่นชอบ แล้วจบด้วยการจองโต๊ะสำรองล่วงหน้าไว้ได้เลย สะดวกมากค่ะ ทุกอย่างสามารถปิดการขายได้เพียงแค่ click & click

ในฟีเจอร์ my map ยังเปิดโอกาสให้ user ทั่วไปสร้างเนื้อหาตามความต้องการหรือประสบการณ์ส่วนตัวได้ด้วย แม้แต่ธุรกิจบริการก็ใช้ประโยชน์จากแผนที่ได้เช่นกัน อย่างสถานที่โปรดที่มักไป เช่น ร้านสปา นวดแผนไทย ยูสเซอร์จะปักหมุดบอกพิกัดพร้อมบรรยายสรรพคุณสั้นๆ แล้ว Share** ข้อมูลให้เพื่อนหรือผู้ใช้ google map คนอื่นๆได้เห็นอีกด้วย และแม้แต่ภาครัฐก็นำไปใช้ได้ใครจะรู้เกิดสรรพากรใช้แผนที่ปักหมุดทำฐานข้อมูลจัดเก็บภาษีขึ้นมาก็ยังได้

(คำว่า Share นี้มีความหมายยิ่งใหญ่นักในโลกของ online marketing ยิ่งแบ่งปันข้อมูลมากเท่าไหร่เครือข่ายข้อมูลก็ยิ่งกระจายออกไปเป็น Social network ไว้ถ้ามีโอกาสหน้า เราค่อยมาขยายความกันนะคะ)

แผนที่ถูกขยายความสามารถการใช้งานผ่านโทรศํพท์มือถือช่วยอำนวยความสะดวกพกไปได้ทุกที่ ยิ่งเป็นรุ่น smart phone ยอดนิยมอย่าง iPhone ฟังก์ชันใช้งานยิ่งง่าย เสมือนกับยูสเซอร์พกพาแคตตาล็อคสินค้าและบริการเราไปด้วยดีดีนี่เองค่ะ ลูกค้าค้นหาข้อมูลในแผนที่ได้ตามความต้องการเลยทีเดียว เรียกว่าเป็น สุดยอดการตลาดบนความต้องการของลูกค้า เจ้าของสินค้าแค่เตรียมข้อมูลรองรับไว้ให้พร้อมก็พอแล้ว

นอกจาก Google Maps ที่เป็นพระเอกด้านแผนที่แล้วยังมีเว็บไซต์สัญชาติไทยที่น่าสนใจอีก อาทิเช่น www.pointthailand.com เป็นชุมชนสมาชิกใช้งานถึง 230,000 รายที่ช่วยกันปักหมุดสถานที่ที่น่าสนใจในประเทศไทยแบ่งหมวดหมู่ชัดเจนง่ายต่อการสืบค้น จุดเด่นอื่นคือมีการอัพเดตข้อมูลจากดาวเทียม ikonos ทำให้เห็นภูมิประเทศแบบอัพเดตและ zoom in ได้ในระยะใกล้กว่าของ google map


และอีกเว็บที่น่าสนใจ คือ www.mapguidethailand.com เป็นของคนไทยแท้ๆ มีการแสดงผลแบบแผนที่ มีเส้นทางลัดและ facility ต่างๆแสดงระหว่างเส้นทาง เด่นที่อัพเดตข้อมูลโดยทีมงานลงภาคสนามจริง





คราวนี้ลองย้อนกลับมามองว่าสินค้าและบริการของคุณมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร อยู่ที่ไหน แล้วเลือกใช้เครื่องมือการตลาดผสมผสานกันอย่างกลมกลืน (Integrate marketing) ก็จะได้สูตรใหม่ในการทำตลาดอีกหนึ่งช่องทางแล้วค่ะ กรณีแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ผลตอบรับที่เราได้ผสานแผนที่เสริมในเว็บไซต์ ทำให้เนื้อหามีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ลูกค้าสามารถดูข้อมูลได้ชัดเจนทำให้ลูกค้าโทรถามเส้นทางน้อยลง แต่ทำให้เค้าหาข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าจากหน้าจอ จากนั้นแค่แวะชมบ้านจริงเพียง 1-2 ครั้ง แล้วตัดสินใจเลย ไม่น่าเชื่อใช่มั๊ยค่ะ... แต่นี่เป็นความจริงค่ะ


อ้อ...เกือบลืมบอกไปว่าทั้งหมดข้างต้นใช้งานฟรีนะคะ ของดีทรงประสิทธิภาพแบบนี้ใครทำก่อนก็ก้าวล้ำคู่แข่งไปก่อน แล้ววันนี้คุณจะรอเป็นคนสุดท้ายคอยเดินตามคนอื่นหรือค่ะ

ตราบใดที่อนาคตเราต้องเดินทางกันอยู่ แผนที่ก็ยังคงอยู่คู่เราไปอีกนานแสนนาน ยกเว้นถ้าวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์อุโมงค์วิเศษเคลื่อนย้ายสสารแบบของวิเศษโดเรมอนได้ เมื่อนั้นแผนที่ที่กล่าวมาทั้งหมดคงหมดความหมาย แต่เมื่อไหร่ละคะที่ความคิดนี้จะเป็นจริง...


ที่มา
Map Marketing บทความโดยปราง เล็กชลยุทธ์)
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9520000120450