วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จะนำไอทีมาใช้ในการสร้างรายได้เพิ่มได้อย่างไร?


Kinokuniya Bookweb หนึ่งในตัวอย่างเว็บจำหน่ายหนังสือที่ประสบความสำเร็จงดงามในญี่ปุ่น

สัปดาห์นี้ "ทำเงินบนโลกไอที" ขอเสนอตัวช่วยที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ทุกค่ายบนโลกใบนี้สามารถเก็บเกี่ยวได้จากโลกไอที และทั้งหมดเป็นตัวช่วยที่สำนักพิมพ์บิ๊กเนมการันตีว่าได้ผลจริง!!

หนอนหนังสือที่เติบโตในยุค Generation Y ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจการเมือง และพิศมัยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีออกมามากมายดาษดื่น พวกเขาใช้เวลาในการอ่านหนังสือ ติดตามข่าวสาร อ่านบทความต่างๆ ที่เป็นออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย ทำให้คิดกันต่อไปว่าแล้วต่อไปอนาคตของธุรกิจสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร? มันกำลังจะเจ๊งแล้วเหรอเนี่ย???

หากสังเกตให้ดีมูลค่าการขายหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ของไทยเมื่อปีก่อน ซึ่งทั้งตลาดมีมูลค่าประมาณ 18.8 หมื่นล้านบาท มันโตเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1% เท่านั้น ตรงนี้เองเป็นภาพขยายที่ชัดเจนของแนวโน้มการหดตัวลงของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ได้เป็นอย่างดี มันเหมือนกับว่าการมีไอทีเข้ามาทำให้ธุรกิจหนังสือที่ทำจากกระดาษจะค่อยตายไปเรื่อยๆ แต่หากมองในอีกด้านหนึ่งธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็สามารถนำเอาไอทีมาช่วยในการสร้างรายได้-ลดต้นทุนธุรกิจได้เช่นกัน และไม่แน่ว่าอาจทำให้ธุรกิจรวยกันแบบไม่รู้เรื่องเลยก็เป็นได้

ดังเช่น เจฟฟ์ บิวเคส ประธานบริหารของไทม์ วอร์เนอร์ เองก็มีแนวคิดที่จะนำไอทีมาช่วยลดต้นทุนและปรับธุรกิจเพื่อรับกับโลกดิจิตอลในอนาคตอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

แล้วสำนักพิมพ์อย่างเราจะทำอย่างไรถึงจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นมา วันนี้เรามาหาคำตอบการสร้างรายได้เพิ่มให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จากการนำไอทีมาใช้ประโยชน์กันดีกว่า ว่าจะมีวิธีอย่างไรบ้าง

1. นำไอทีมาใช้ประโยชน์โดยการจำหน่ายหนังสือผ่านออนไลน์

ธุรกิจร้านจำหน่ายหนังสือชื่อดังหลายๆแห่ง นำเอาช่องทางออนไลน์มาใช้ประโยชน์โดยการสร้างเว็บไซต์ในการจำหน่ายหนังสือ ดังเช่น คิโนคุนิยะ (Kinokuniya) ร้านเครือข่ายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น (และมีอยู่หลายสาขาที่เปิดในไทย) เขาได้เปิดเว็บไซต์ที่ชื่อ Kinokuniya Bookweb (http://bookweb.kinokuniya.co.jp) ที่เป็นศูนย์ข้อมูลด้านหนังสือออนไลน์ให้สมาชิกสามารถเข้ามาสืบค้น และสั่งซื้อหนังสือได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันเขามีสมาชิกทั่วโลกเข้าใช้งานกว่า 2 แสนรายเข้าไปแล้ว!!

2. นำหนังสือของสำนักพิมพ์ไปจำหน่ายในรูปแบบ e-Book

ธุรกิจสิ่งพิมพ์สามารถสร้างรายได้แนวใหม่ซึ่งคล้ายกับการทำธุรกิจเพลงที่หารายได้ผ่านช่องทางดิจิตอล ให้ผู้อ่านเข้ามาซื้อหนังสือที่เขาสนใจโดยการดาวน์โหลดเป็นไฟล์ e-Book ออกไปเพื่อนำไปอ่านบนเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆได้

ในขณะเดียวกันกระแสการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยในการอ่าน e-Book ที่หลั่งไหลออกมาอย่างมากมายในปีนี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณการอ่านหนังสือ e-Book มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Apple iPad, Amazon Kindle, Sony Reader, Barnes & Noble, Digital Reader Touch Edition, Bookeen Cybook Gen3, Irex Digital Reader (IDR), Elonex eBook, Fujitsu FLEPia, Plastic Logic eReader และอื่นๆอีกมากมาย

นิตยสาร Business Week เองก็ได้ออกมาพยากรณ์ว่าภายหลังจากที่อุปกรณ์เหล่านี้หลั่งไหลกันออกมาอย่างมากมาย จะส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์นั้นกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สมาชิกจะยอมเสียค่าสมาชิกเพื่อนำ e-Book ไปอ่านบนอุปกรณ์เหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย อาจต้องรออีกซักพักหนึ่งเพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้มีราคาลดลง รวมถึงอุปกรณ์เหล่านี้สามารถรองรับภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์ ตลาด e-Book ในไทยก็น่าจะไปโลดได้อย่างแน่นอน

ทางฟากฝั่ง Google เว็บไซต์ Search Engine ชื่อดัง ก็กำลังเปิดร้านจำหน่ายหนังสือออนไลน์ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยใช้ชื่อว่า Google Editions ซึ่งเป็นช่องทางในการทำธุรกิจร่วมกับสำนักพิมพ์ โดยจะมีทั้งในรูปแบบขายปลีกและขายส่ง สำหรับกรณีขายปลีกรายได้จะถูก Google หักไป 37% และให้สำนักพิมพ์ 63% ในขณะที่หากเป็นกรณีขายส่งรายได้จะถูก Google หักไป 55% (ซึ่ง Google จะนำไปแบ่งแก่ผู้ขายปลีกอีกต่อ คนละครึ่ง) ส่วนที่เหลืออีก 45% ให้สำนักพิมพ์

แน่นอนว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์สามารถจำหน่ายหนังสือออกไปในรูปดิจิตอลแก่ผู้อ่านทั่วโลกผ่าน Google ขณะเดียวกัน Apple Inc. คู่แข่งสำคัญทางธุรกิจของ Google ก็เช่นกันก็ได้เปิดบริการ iBookstore เพื่อให้คนเข้ามาซื้อ e-Book เพื่อนำไปใช้อ่านในเครื่องเล่นดังกล่าว

ขณะเดียวกัน โซนี่ ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ก็ได้ร่วมมือกับ ออเธอร์ โซลูชั่นส์ และสแมชเวิร์ดส์ บริษัทรับจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์ เพียงส่งผลงานมาให้กับบริษัทในรูปเอกสารไมโครซอฟท์ เวิร์ด และเลือกราคาที่ต้องการ ที่เหลือบริษัทจะจัดการทุกอย่างให้เอง

3. ช่องทางการโปรโมทสำนักพิมพ์หรือหนังสือใหม่ บนโลกออนไลน์มีอยู่มากมายได้ฟรีๆ

เว็บไซต์ Social Network ทั้งหลายที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็น twitter.com หรือ facebook.com ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายทางการตลาดลง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างช่องทางบอกต่อกับกลุ่มสมาชิก และยังสามารถสื่อสารพูดคุยกับผู้อ่าน แฟนคลับหนังสือได้เป็นอย่างดี และรับฟังข้อคิดเห็นเสนอแนะเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงเนื้อหาให้ถูกใจผู้อ่านมากยิ่งขึ้น

เห็นช่องทางแบบนี้ สำนักพิมพ์ไทยรู้แล้วบอกต่อนะครับ


ที่มา
ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จะนำไอทีมาใช้ในการสร้างรายได้เพิ่มได้อย่างไร? (บทความโดย สุธน โรจน์อนุสรณ์ ผู้จัดการแผนกการศึกษา บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด)
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9530000039486