วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

Social Media กับการหางาน

เลิกตกงานด้วยเฟสบุ๊ก

ประโยชน์ของเฟสบุ๊กไม่ได้อยู่ที่เกมสนุก-เมาท์สนั่นอย่างเดียว แต่สามารถช่วยให้คนตกงานพ้นจากวิกฤตวิจัยฝุ่นได้จริง ต่อไปนี้คือวิธีการที่คุณทุกคนจะสามารถทำตามเพื่อแปลงเครือข่ายสังคมทุกค่าย ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการหางานทำได้อย่างไม่ควรมองข้ามด้วยประการทั้งปวง

จากบทความเรื่อง Social Media กับการหางาน
โดย กานดา สุภาวศิน (Twitter: @pakada)

ในยุคปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จัก Social Media สื่ออันทรงพลังรูปแบบใหม่ที่ทำให้เกิดโอกาสในหลายๆ ทาง ทุกวงการล้วนแล้วแต่กระโดดเข้ามาใช้ Social Media ทั้งสิ้น เนื่องด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ User Content Generated และ Influence of Referral

ประเด็นร้อนประเด็นฮิตที่จะพูดถึงในวันนี้ คือ Social Media ช่วยในการหางานได้จริงหรือ จากประเด็นนี้เลยขอแบ่งยุคและวิธีการหางานโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่

ช่วงที่1 การประกาศตำแหน่งงานด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ (Print Media) ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หนังสือ/นิตยสารรายปักษ์ สื่อนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและถือเป็นสื่อพื้นฐานที่ คนหางาน กับ งานหาคนมาพบเจอกัน

ช่วงที่2 กำเนิดเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ยุคนี้เป็นยุคที่เกิดเว็บไซต์หางานต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตำแหน่งงานมากมายถูกประกาศผ่านทางเว็บไซต์ด้วยต้นทุนการประกาศที่ต่ำกว่า สื่อสิ่งพิมพ์อยู่มาก และมีผู้ค้นหาตำแหน่งงานและสมัครงานผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น โดยแนวโน้มการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการประกาศตำแหน่งงานมีจำนวนลดลงมาก หลายบริษัทที่รับประกาศตำแหน่งงานในสื่อสิ่งพิมพ์พยายามผันสื่อของตัวเองให้ อยู่ในรูปแบบออนไลน์กันมากขึ้น

ช่วงที่3 ยุค Web 2.0 จนถึงปัจจุบัน หลายท่านอาจจะคุ้นหูกับคำว่า Web 2.0 ไปแล้ว เรามาทบทวนกันอีกสักครั้งหนึ่งว่า Web 2.0 ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โดย O'Reilly Media ได้กล่าวถึง การให้บริการในรูปแบบ Web-based Generation ที่สองไว้ ดังนี้

Social networking sites เป็น เว็บไซต์ที่รวบรวมบรรดาผู้คนมากหน้าหลายตาที่พร้อมใจกันสร้างสรรค์/แชร์คอน เทนต์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร ภาพถ่าย ภาพวิดีโอ สื่อประสมต่างๆ จากเพื่อนสู่เพื่อน ตัวอย่างของไซต์ที่ฮอตฮิตในประเทศไทย ได้แก่ Facebook, Hi5, Youtube, LinkedIn

Wikis เป็นเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ผู้เข้าเยี่ยมชมทุกคนมีสิทธิ์ในการเพิ่มเติม/แก้ไข /เปลี่ยนแปลงข้อมูลที่สามารถใช้งานร่วมกันได้เสมือนร่วมมือร่วมใจกันสร้าง สรรค์คอนเทนต์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ Wikipedia

Communication tools เครื่องมือการติดต่อสื่อสารนี้รวมไปถึง อีเมล และยังขยายวงกว้างคลอบคลุมไปถึง RSS feed, podcasting, instant messaging, SMS, Blog หรือ แม้แต่ Twitter เอง

Folksonomies อนุกรมวิธานที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเอง ซึ่งใช้ในการแบ่งหมวดหมู่และค้นคืน หน้าเว็บ รูปภาพ ตัวเชื่อมโยงเว็บ และ เนื้อหาบนเว็บอื่นๆ โดยใช้วิธีการติด Tag ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ Social Bookmarking

ยุค Web 2.0 นี้จัดได้ว่าเป็นยุคที่ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์ และมีการนำมาแชร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างกว้างขวางและไม่จำกัด โดยหลายบริษัท องค์กร ได้มีการสร้างกลุ่ม/เครือข่ายของตนเองขึ้น เพื่อเป็นอีกช่องทางในการประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ทั้งนี้เพื่อหวังผลการบอกต่อ / แบ่งปัน / Retweet จากเพื่อนสู่เพื่อน ในแง่ของบุคคลที่ต้องการหางานก็เช่นกัน ได้มีการพยายามสร้างโปร์ไฟล์ หรือประวัติของตนเองขึ้นมาเพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าตนเองต้องการสิ่งใดบ้าง

Social Media กับการหางาน เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ?

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการหางานนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการแนะนำเพื่อนบอกต่อเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ (Referral) และจากสถิติ User Demographic ของกลุ่มผู้ใช้งาน Social Media พบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ตกอยู่ช่วงอายุเฉลี่ย 24-54 ปี ซึ่งสอดรับกับกลุ่ม White Collars Worker หรือกลุ่มวัยทำงานนั่นเอง จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า Social Media สอดรับกับการหางานมากแค่ไหน

ปัจจุบัน Social Media มีอยู่เยอะแยะมากมายจนนับไม่หวาดไม่ไหว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวไหนควรใช้บ้าง?


ในเบื้องต้น ขอแนะนำ Facebook , Twitter, LinkedIn และ YouTube มาดูเหตุผลกันดีกว่าว่าทำไม

Facebook
หากคุณกรอกโปร์ไฟล์ส่วนตัว ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เฟสบุ้กเป็นอีกช่องทางนึงที่มีระบบสืบค้นที่ค่อนข้างตรงและแม่นยำ ลองนึกภาพตามว่า หากบริษัทแห่งหนึ่งต้องการหาบุคลากรที่มาจากบริษัทคู่แข่ง หรือ จากสถาบันการศึกษาเฉพาะที่กำหนดไว้ แค่พิมพ์ชื่อบริษัทหรือสถานศึกษาลงไป และทำการสืบค้น รายชื่อโปร์ไฟล์ของผู้ที่เกี่ยวข้องก็แสดงปรากฏในลิสต์เพียงไม่กี่วินาที

Twitter
เนื่องจากทวิตเตอร์เป็น Communication Tool ที่มาแรง และทรงอิทธิพลในยุคปัจจุบันมากที่สุดตัวหนึ่ง ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 190 ล้านคนทั่วโลก สื่อสารผ่านข้อจำกัดที่พิมพ์ได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน 140ตัวอักษร เราสามารถติดตาม (Follow) กลับทางเดียว โดยที่คนคนนั้นไม่จำเป็นต้อง Follow เราอยู่ ซึ่งต่างจาก Social Media ประเภทอื่น ๆ ที่จะต้องมีเน็ตเวิร์กร่วมกันหรือเป็นตกลงเป็นเพื่อนกันก่อนจึงจะสามารถ ติดตามความเคลื่อนไหวของกันและกันได้ และ เนื่องด้วยการตาม Timeline ของบุคคลมากหน้าหลายตาทำให้เราเหมือนรู้จักใกล้ชิดสนิทสนมกับบุคคลนั้นไปโดย ปริยาย ทวิตเตอร์จึงเป็นเครื่องมือที่บรรดาบริษัท/องค์กร/บริษัทจัดหางานต่าง ๆ พร้อมใจกันใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ค่อนข้างประสบความสำเร็จและสามารถ เข้าถึง เกิดการบอกต่อจนเกิดจำนวน Follower ที่เพิ่มขึ้น

LinkedIn ถือเป็น Social Media ที่จัดการด้านการหางานโดยตรง นอกจากจะช่วยในการพบเห็นประวัติ โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างหน้าฝากประวัติ หรือโปร์ไฟล์ของตัวเองให้ดูโดดเด่น โดยเท่าที่เห็นส่วนใหญ่จะเขียนประวัติในลักษณะเป็นทางการ ต่างจากการเขียนประวัติใน Social Media อื่น ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นโปร์ไฟล์ที่น่าสนใจแก่ตลาดหรือองค์กร ซึ่งองค์กรเหล่านั้นสามารถเข้าถึงเจ้าของโปร์ไฟล์ ได้โดยตรงด้วยระบบค้นหา

YouTube
ยูทูปเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ในหลายๆ องค์กรพยายามที่จะนำมาประกอบกับการสัมภาษณ์งาน เช่น การให้ผู้สมัครงานอัปโหลดวิดีโอแนะนำตัวเองแบบสั้นๆ และส่งลิงค์มาให้พิจารณาก่อนที่จะมาสัมภาษณ์จริง ทั้งนี้เพื่อพิจารณาลักษณะหน้าตา บุคลิกภาพ และ ท่วงทำนองการสื่อสาร

เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เวลาหางานผ่าน Social Media

เมื่อรู้แล้วว่าเราควรใช้ Social Media อันไหนบ้าง ทีนี้เรามาลองพิจารณากันรายตัว เริ่มตั้งแต่

Facebook
- เขียนประวัติให้ครบถ้วน ทั้งในด้านการศึกษา สถานที่ทำงาน การเขียนโปร์ไฟล์ครบก็เพิ่มโอกาสในการ แต่ทั้งนี้เมื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งตัวคุณและข้อมูล ไม่จำเป็นต้องกรอกประวัติส่วนตัวที่สามารถเข้าถึงตัวคุณได้โดยตรง เช่น เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล เนื่องจากเฟสบุ้กมีการให้ใช้กล่องข้อความเพื่อการสื่อสารระหว่างกันอยู่แล้ว

- โพสต์ข้อความ รูปภาพ วิดีโอแสดงความเป็นตัวตน แสดงความสามารถพิเศษ เพื่อให้บริษัทสามารถศึกษาความเป็นตัวตนของคุณได้

- ไม่อ้างอิง ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด ด้วยการไม่เข้าร่วม กลุ่มทางด้านการเมือง เนื่องจากบางบริษัทฯ มองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่ต้องการให้พนักงานของตนเข้าไปมีส่วนร่วม

- เข้าร่วมกลุ่ม เข้าร่วมกิจกรรม ของหน่วยงาน/องค์กรที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคุณ และ ไม่ขัดต่อหลักจริยธรรม

Twitter
- เนื่องจากการเขียนประวัติส่วนตัว (Bio) ในทวิตเตอร์มีข้อจำกัดในการเขียนได้ไม่เกิน 160 ตัวอักษร การเขียนประวัติข้อมูลส่วนตัวจะต้องทำอย่างกระชับบ่งบอกตัวคุณเอง การทำงาน กิจกรรมยามว่าง ความสนใจ อย่างสั้น ๆ ได้ใจความ

- ใส่ภาพ Avatar ที่เป็นภาพจริงของคุณในลักษณะปกติ บ่งบอกความเป็นตัวตนของคุณ

- ทำ Image Background โดยเพิ่ม Bio ที่น่าสนใจในตัวคุณลงไปเพิ่มเติม ยกตัวอย่าง กรณี @yokekung มีการเพิ่ม Text ลงใน Image Background พูดถึง ลักษณะงานที่สนใจ รวมทั้งเขียน URL ผลงานของตนเอง เพื่อให้ Visitor สามารถตามลิงค์เพื่อเปิดดูต่อได้

- ควร Follow บุคคลที่คิดว่า ลักษณะโปร์ไฟล์น่าสนใจ และไม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดจริยธรรมอันดีของสังคม

LinkedIn
- กรอกข้อมูลให้ครบทุกอย่าง ในรูปแบบทางการ และดูเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน

- หากสามารถทำให้บุคคลอื่นๆ เข้ามาเขียน Recommendation ในตัวเรา ในผลงานของเรา เพื่อสร้างให้โปร์ไฟล์ของคุณให้ดูดีและมีความน่าเชื่อถือ

- เชื่อมต่อโปร์ไฟล์ของตนเอง ด้วยการติดต่อขอ Connection กับบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความสามารถ

YouTube
หากความสามารถอันบรรเจิดของคุณสามารถโลดแล่นบนวิดีโอเพียงสั้นไม่กี่ นาทีได้ อย่ารีรอที่จะสร้าง ตัดต่อ และโพสต์ออกมา เพื่อแสดงศักยภาพในตัวคุณอีกมุมมองหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและประสบความสำเร็จ คือ สาวเกาหลีที่ชื่อ คิม โยว ฮี หรือ ที่ทุกคนใช้คำว่า Apple Girl ในการค้นหาวิดีโอของเธอ โดยเธอมีความสามารถพิเศษทางด้านการดนตรี โดยการนำ ไอโฟนหลายๆ เครื่องใช้ในการทำเพลงเสมือนอัดเพลงอยู่ในห้องสตูดิโอ เธอได้ทำการเล่นดนตรีและโพสต์วิดีโอการแสดงขึ้นยูทูป อีกต่อมาไม่นานเธอก็ได้งานที่เธอถนัด เซ็นสัญญากับค่ายเพลงในเกาหลี

ทั้งนี้ทั้งนั้น การโพสต์ข้อมูลขึ้น Social Media ควรคิดก่อนโพสต์ทุกครั้ง เพราะข้อมูลทุกอย่างสะท้อนล้วนแล้วแต่เป็นกระจกเงาสะท้อนด้านดีหรือด้านเสีย ของคุณ ดังคำกล่าวของท่านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบารัค โอบาม่า ที่กล่าวเตื่อนสติวัยรุ่นอเมริกันทุกคนให้ระมัดระวังคำพูดก่อนที่จะโพสต์ข้อ ความต่าง ๆ ลงเฟสบุ้กเพราะในอนาคตข้างหน้าเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน หรือ กำลังมองหางาน ข้อมูลทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในเฟสบุ้กหรือทวิตเตอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจจ้างงานจากนายจ้าง และข้อมูลทุกอย่างล้วนอยู่ในผลลัพธ์การค้นหาแทบทั้งสิ้น

ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในการหางานด้วย Social Media

จากเหตุผลร้อยแปดประการดังกล่าวข้างต้น ขอสรุป 3 ข้อสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

1.เขียนประวัติโปร์ไฟล์ตนเองให้ถูกต้อง ครบถ้วน แสดงศักยภาพของตัวเองเท่าที่มี และเหมาะสมกับ Social Media แต่ละประเภทโดยเขียน โพสต์รูปภาพ วิดีโอทุกอย่างบนพื้นฐานความจริง สิ่งไหนไม่ดีเป็นข้อด้อยของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเขียนบรรยายสรรพคุณสิ่งนั้นออกมา และระมัดระวังการเขียน ตอบโต้ และโพสต์ข้อความในแง่ลบหรือพาดพิงถึงผู้อื่น จำไว้ว่าทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานชั้นดีในอนาคตการทำงานของคุณ

2.พยายามสร้างปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับบริษัทหรือองค์กรที่หมายปอง เรียกง่ายๆ ว่า บางครั้ง เราจำเป็นต้องเสนอตัวและสร้างสถานการณ์ขึ้นมาด้วย เช่น กรณีการสอบถามตอบโต้กับบริษัทนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงดึงดูดและจุดสนใจให้กับบริษัทรู้จักเรามากยิ่งขึ้น

3.ใช้ประโยชน์และข้อดีจากเครื่องมือ Social Media แต่ละประเภท จำไว้ว่าคุณยิ่งถือครอง Social Media และเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกันมากเท่าไหร่ จะเพิ่มโอกาสให้นายจ้าง หรือ บริษัทจัดหางานค้นหาและแกะรอยข้อมูลของคุณได้มากยิ่งขึ้นผ่านเสิร์ช เอนจินต่างๆ ขอยกตัวอย่างกรณีเสิร์ชในกูเกิลคำว่า Pawoot ผลลัพธ์การค้นหา จะพบทั้ง Facebook, Twitter, Youtube, Foursquare และ Blog ต่างๆ มากมาย


แล้วในมุมมองของบริษัทจัดหางานในประเทศไทยหละ มีการนำ Social Media ไปใช้บ้างหรือยัง

จากการสำรวจการใช้ Social Media ในธุรกิจจัดหางานและสรรหาบุคลากร พบว่าบริษัทรับประกาศตำแหน่งงาน (Job Posting Company) บริษัทจัดหางาน (Recruitment Agency) หรือที่ใครหลายคนนิยมเรียกติดปากว่า Head Hunter หรือแม้กระทั่งบริษัท หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ได้มีการนำ Social Media ใช้เพิ่มมากขึ้น โดยลักษณะการกระจายข้อความส่วนใหญ่จะเป็นการประกาศตำแหน่งงานว่าง คุณสมบัติของผู้สมัครงานที่สนใจ ความรู้ทางด้านการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งมีการวาง URL เพื่อลิงค์กลับเข้าไปยังเว็บไซต์ของตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครงานสามารถเข้าเว็บไซต์เพื่อสมัครงานได้โดย ตรง

และเนื่องจากในปัจจุบัน หากเราอยากรู้จักคนหนึ่งคน สิ่งที่เราทำอันดับแรกอาจเป็นการเสิร์ช ชื่อคนคนนั้นจากกูเกิล และก็ไม่แปลกใจที่ผลการค้นหาอันดับต้นๆ นั้นมาจาก Social Media แทบทั้งสิ้น บริษัทจัดหางานต่างๆ จึงใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางในการสืบค้น ตรวจสอบประวัติของคุณก่อนเรียกสัมภาษณ์เช่นกัน อีกทั้งหากสังเกตแบบฟอร์มสมัครงานปัจจุบันของหลายๆ องค์กร ก็จะพบว่ามีช่องเพิ่มเติมให้กรอก URL ส่วนตัว, Facebook Account , Twitter ID

ดังนั้น ใครที่กำลังมองหางานกับบริษัทเป้าหมาย ก็อย่าลืม Follow หรือ ไปกดปุ่ม Like บริษัทนั้น ๆ ไว้ เพื่อให้มีข้อมูลงานตำแหน่งใหม่ๆ Feed เข้ามาใน Wall หรือ ใน Timeline ของคุณอย่างสม่ำเสมอ เผื่อมีตำแหน่งงานที่น่าสนใจตรงกับคุณสมบัติของคุณ หรือเป็นตำแหน่งงานที่สามารถส่งต่อไปยังเพื่อน ๆ ในเครือข่ายของคุณได้

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการ (How To)ในการสร้างโอกาสในการนำเสนอ ให้คุณในการถูกเรียกสัมภาษณ์จากนายจ้างได้เร็วขึ้น มีโอกาสในการเรียกสัมภาษณ์ แต่สุดท้ายแล้วการจะได้งานหรือไม่ได้งานนั้นจะอยู่ที่ศักยภาพของคุณ ดังนั้น นอกจากจะมีโปร์ไฟล์ ใน LinkedIn ที่สวยเนี้ยบเฉียบหรูดูทางการ มีข้อมูลบนเฟสบุ้กที่บ่งบอกความเป็นตัวตนที่แท้จริงของคุณ มีการทวีตข้อความดีๆ ใน Twitter มีวิดีโอในยูทูปที่ดูโดดเด่น แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่คุณขาดไม่ได้คือ ต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเอง หรือ สร้างความมั่นใจ รวมทั้งแสดง Talent ที่มีอยู่ในตัวคุณให้ฉายแววออกมาสู่สภาพความเป็นจริงเมื่อนายจ้างเรียก สัมภาษณ์เข้าตำราทำ Marketing ดี Product ก็ต้องดีด้วยนะคะ

ขอให้โชคดีในการหางานตรงใจทุกคน หาคนตรงใจทุกงาน

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์